top of page

การประกันคุณภาพซอฟต์แวร์ ตอนที่ 5 : นิยามของกระบวนการ

ดังที่ได้กล่าวไปแล้วเกี่ยวกับหน้าที่ของ QA ซึ่่งเน้นการพัฒนากระบวนการที่ดีเพื่อให้กระบวนการนั้นๆ สามารถผลิตซอฟต์แวร์ที่มีคุณภาพได้ ดังนั้นในตอนที่ 5 - 6 จะกล่าวถึงเรื่องกระบวนการ และวิธีการในการพัฒนากระบวนการ

กระบวนการ (Process) เป็นเครื่องมือที่ใช้ในการสื่อสารวิธีการในการผลิตสินค้าหรือบริการ ประกอบด้วยกิจกรรมต่างๆ และวิธีการทำงาน ประโยชน์ของการมีกระบวนการมีดังนี้

ในมุมมองของฝ่ายบริหาร

  • ช่วยอธิบายวิธีการทำงานให้แก่ผู้ปฏิบัติงาน

  • ใช้เป็นเครื่องมือในการถ่ายทอดความรู้ให้กับผู้ปฏิบัติงานที่เข้ามาใหม่

  • ทำให้สามารถคาดการณ์คุณภาพของผลผลิตได้

  • ช่วยในเรื่องของการปรับปรุงกระบวนการอย่างต่อเนื่อง

  • ส่งเสริมให้ผู้ปฏิบัติงานมีส่วนร่วมในการปรับปรุงกระบวนการและคุณภาพเพื่อความพึงพอใจของลูกค้าด้วยการให้ผู้ปฏิบัติงานกำหนดและปรับปรุงกระบวนการทำงานที่ตนเองรับผิดชอบ

  • ช่วยให้ฝ่ายบริหารสามารถทุ่มเทให้กับงานวางแผนและการติดต่อพบปะกับลูกค้าได้มากขึ้น

ในมุมมองของผู้ปฏิบัติงาน

  • ช่วยให้ผู้ปฏิบัติมั่นใจได้ว่าผลผลิตที่ตนเองผลิตออกนั้นจะได้รับการยอมรับจากลูกค้า

  • ช่วยให้ผู้ปฏิบัติงานทำงานอย่างมีทิศทางที่ชัดเจน เพราะทราบว่าผลงานของตนเองจะถูกประเมินอย่างไร

  • ส่งเสริมให้ผู้ปฏิบัติงานทุ่มเทและใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการผลิตผลงาน โดยที่ไม่ต้องกังวลกับวิธีการทำงาน

  • ช่วยให้ผู้ปฏิบัติงานสามารถวางแผนการทำงานประจำวันของตนเองได้ดียิ่งขึ้น

องค์ประกอบของกระบวนการ ดังแสดงในรูป

นโยบาย (Policy) – อธิบายวัตถุประสงค์ของกระบวนการ โดยมีการเชื่อมโยงกับกลยุทธ์ขององค์กรและตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้า

มาตรฐาน (Standard) – ระบุมาตรฐานของผลผลิตที่ได้จากกระบวนการและตัวกระบวนการเองที่ต้องมีและทำให้ได้ เพื่อให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ของกระบวนการ มาตรฐานที่กำหนดขึ้น จะเป็นสิ่งบ่งชี้ว่าผลิตภัณฑ์ที่ได้ตรงตามความต้องการของลูกค้าหรือไม่ การกำหนดมาตรฐานต้องสามารถวัดได้ ส่งมอบได้ และเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องมี

สิ่งป้อนเข้า (Input) – หมายถึงเกณฑ์ในการเริ่มกระบวนการ (entry criteria) หรือ สิ่งที่ต้องป้อนเข้าเพื่อนำไปใช้ในกระบวนการก็ได้

วิธีการ (Procedure) – อธิบายวิธีการทำงาน เช่น จะใช้คน เครื่องมือ และเทคนิคในการทำงานอย่างไรให้ได้ตามมาตรฐาน หรือจะแปลง input เป็น output อย่างไร รวมทั้งการตรวจสอบวิธีการทำงานและผลผลิตที่ได้ หากไม่เป็นไปตามมาตรฐาน จะถูกนำไปแก้ไขและตรวจสอบจนกว่าจะได้ตามมาตรฐานที่กำหนด

คน/เครื่องมือ (people/skills, tools) – อธิบายหน้าที่ความรับผิดชอบ ทักษะและความรู้ที่ควรต้องมีในการทำงานตามกระบวนการ เช่นโปรแกรมเมอร์ต้องมีทักษะหรือความรู้ด้านโปรแกรมภาษา C++ รวมทั้งเครื่องมือต่างๆ ที่ช่วยในการทำงานเช่น CASE Tool, เอกสารต้นแบบต่างๆ (template), test tool

ผลลัพธ์ (Output/deliverable) – หมายถึงเกณฑ์ในการออกจากกระบวนการ (exit criteria) หรือผลลัพธ์ที่ได้จากการทำงานตามกระบวนการ ผลลัพธ์อาจเป็นสิ่งที่ใช้ภายในกระบวนการเอง (interim deliverable) ส่งต่อไปยังกระบวนการอื่นหรือส่งมอบให้กับลูกค้า (external deliverable)

การแบ่งประเภทของกระบวนการสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภทดังนี้

  1. กระบวนการในการบริหารจัดการ เป็นกระบวนที่เกี่ยวข้องกับการ ควบคุมการดำเนินธุรกิจ เช่น กระบวนการด้านการบริหารทรัพยากรมนุษย์ การวางแผน การจัดทำงบประมาณ เป็นต้น

  2. กระบวนการทำงาน เป็นกระบวนการที่ใช้สำหรับการทำกิจกรรมต่างๆในองค์กรเพื่อการผลิตหรือบริการ เช่นกระบวนการพัฒนาซอฟต์แวร์ กระบวนการจัดหา กระบวนการทำสัญญา กระบวนการจัดการการเปลี่ยนแปลง กระบวนการประเภทนี้จะรวมถึงมาตรฐานและวิธีการในการดำเนินงานด้วย

  3. กระบวนการตรวจสอบ เป็นกระบวนการที่ใช้สำหรับตรวจสอบผลการดำเนินงานว่าเป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดและลูกค้าพึงพอใจหรือไม่ รวมทั้งตรวจสอบด้วยว่าได้มีการทำงานตามกระบวนการที่กำหนดหรือไม่

Featured Posts
Recent Posts
Search By Tags
Follow Us
  • Facebook Classic
  • Twitter Classic
  • Google Classic
bottom of page